วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

การเลือกรับวัฒนธรรมสากล (หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 : วัฒนธรรม)

 1) เลือกรับวัฒนธรรมสากลที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน 
                 วัฒนธรรมสากล เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนระบบระเบียบการค้าขายระหว่างประเทศ มีความสำคัญในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและคนต่างชาติอย่างมาก จึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ให้ถ่องแท้ เลือกรับเฉพาะวัฒนธรรมที่ดี เหมาะกับสังคมไทยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตขอแงคนไทยในยุคปัจจุบัน

2) พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียควบคู่กันไป 
                   เนื่องจากสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากวัฒนธรรมภายนอกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หรือกล่าวอีนัยหนึ่ง คือ ก่อให้เกิดคุณอนันต์และโทษมหันต์ ซึ่งถ้าหากเราศึกษาให้ดีใช้ให้เป็นประโยชน์ก็จะก่อให้เกิดความสะดวกสบาย ช่วยแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ได้ดังใจ แต่ผลเสียก็มีอยู่มาก เช่น ทำให้มนุษย์เกิดความฟุ้งเฟ้อ ให้ความสำคัญทางด้านวัตถุมากกว่าจิตใจ เกิดการแก่งแย่งแข่งขันกัน อีกทั้งส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากและมีการปล่อยของเสียออกมาเป็นจำนวนมาก

3) มีการร่วมมือ ค้นคว้า เผยแพร่ รวมถึงการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย 
                 โดยสืบค้นจากคำบอกกล่าวของผู้เฒ่า ผู้อาวุโส และผู้รู้ จากนิยาย นิทานชาวบ้าน คัมภีร์ทางศาสนา วรรณคดีประเภทต่างๆ คำคม สุภาษิต คำพังเพย รวมถึงการสังเกตและเปรียบเทียบการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยได้จัดระบบความรู้ เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ขึ้น พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทย

4) มีการพัฒนาและผสมผสานวัฒนธรรมไทยให้เหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน 
                    เราจะเห็นได้ว่า ภูมิปัญญาไทยหลายเรื่องได้กลายเป็นภูมิปัญญาสากล เช่น อาหารไทยได้รับความนิยมทั่วโลก มีการผสมผสานภูมิปัญญาไทยกับภูมิปัญญาตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสถาปัตยกรรม เช่น โบสถ์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม และสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส        ในจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น การผสมผสานอย่างลงตัวของภูมิปัญญาไทยกับภูมิปัญญาตะวันตก ได้กลายเป็นมรดกสำคัญของวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น